การป้องกันกำจัดศัตรูปาล์มน้ำมัน

การป้องกันกำจัดศัตรูปาล์มน้ำมัน

1. โรคปาล์มน้ำมัน

        (1) โรคใบไหม้ (Curvularia Seedling Blight)

        ลักษณะอาการ :
แผลมีลักษณะบุ๋มตรงกลางมีสีน้ำตาล ขอบแผลนูนมีลักษณะฉ่ำน้ำ รอบแผลมีวงสีเหลืองล้อมรอบ แผลรูปร่างกลมรีความยาวของแผลอาจถึง 7-8 มม. เมื่อเกิด                        ระบาดรุนแรง แผลขยายตัวรวมกันทำให้ใบแห้งม้วนงอ และเปราะฉีกขาดง่าย การเจริญเติบโตของต้นกล้าชะงักไม่เหมาะในการนำไปปลูกในกรณีที่โรครุนแรง                          ทำให้ต้นกล้าถึงตายได้

        สาเหตุ : เชื้อรา Curvularia eragrostidis

        การป้องกันกำจัด เผาทำลายใบ และต้นที่เป็นโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น ไทแรม 75% WP อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วันในช่วงที่มีการระบาด

        (2) โรคทางใบบิด (Crown Disease)

        พบในกับต้นปาล์มน้ำมันอายุ 1-3 ปี หลังจากนำลงปลูกในแปลง โรคนี้มีผลให้การเจริญเติบโตของต้นปาล์มน้ำมันหยุดชะงักไประยะหนึ่ง

        ลักษณะอาการ :

        ใบยอดที่ยังไม่คลี่มีอาการอ่อนโค้งไม่ตั้งตรง เกิดแผลสีน้ำตาลแดงลักษณะฉ่ำน้ำที่กลางใบยอด เมื่อทางยอดคลี่ออก ก้านทางโค้งงอลงตรงบริเวณที่เกิดแผล ในบางครั้งไม่          เกิดแผลแต่ทางจะโค้งงอที่กึ่งกลางทาง

        สาเหตุ: ยังไม่ทราบแน่นอน มีรายงานว่าพันธุกรรมมีความสัมพันธ์กับอาการนี้

        การป้องกัน และกำจัด

ตัดทางใบที่เป็นโรคออก โดยตัดให้ต่ำกว่าส่วนของเนื้อเยื่อที่เน่าในกรณีที่มีอาการเน่าเกิดขึ้น

 

เลือกต้นกล้าจากสายพันธุ์ที่ไม่มีประวัติการเป็นโรคนี้

 


อาการทางใบบิด

        (3) โรคยอดเน่า (Spear Rot)

        โรคนี้ระบาดมากในฤดูฝน เข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมันตั้งแต่ในระยะกล้า แต่ส่วนใหญ่มักจะพบโรคนี้กับต้นปาล์มน้ำมันอายุ 1-3 ปี

        ลักษณะอาการ :

        เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลดำขอบแผลลักษณะฉ่ำน้ำที่บริเวณใกล้ ๆ โคนใบยอดที่ยังไม่คลี่ บางครั้งจะพบอาการเน่าดำเริ่มจากปลายใบย่อยที่ยังไม่คลี่ จากนั้นแผลเน่าดำจะขยาย          ทำให้ใบยอดทั้งใบเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถดึงหลุดออกมาได้ง่าย

        สาเหตุ :

        ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการแยกเชื้อพบเชื้อโรคพืชหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) และเชื้อแบคทีเรียพวกเออร์วิเนีย (Erwinia              sp.)

        การป้องกัน และกำจัด

ดูแลบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันอย่าให้มีวัชพืชปกคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นที่หลบซ่อนของแมลงที่จะไปกัดบริเวณส่วนยอด ทำให้เกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายได้ง่ายขึ้น

ในกรณีที่มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วราดบริเวณกรวยยอดของต้นที่เป็นโรคด้วยสารเคมี เช่น สารไทแรม (Thiram) อัตรา 130 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซ็บ (Mancozeb) อัตรา 150 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบทุก ๆ 5-7 วัน

โรคยอดเน่า

         (4) โรคทะลายเน่า (Marasmius Bunch Rot)

         โรคจะเข้าทำลายผลปาล์มก่อนที่จะสุก พบเสมอกับต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 3-9 ปี ระบาดมากในฤดูฝนที่มีความชื้นสูง เป็นมากกับปาล์มที่มีการผสมไม่ดี

         ลักษณะอาการ :

         เชื้อราจะสร้างเส้นใยสีขาวปกคลุมอยู่บนทะลายปาล์มน้ำมันที่ยังไม่สุก โดยเจริญอยู่ระหว่างผลปาล์มน้ำมัน เมื่อผลปาล์มน้ำมันใกล้จะสุกเส้นใยของเชื้อจะเจริญเข้าไปในผลปาล์ม    ทำให้เปอร์เซ็นต์กรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นประสิทธิภาพในการให้น้ำมันน้อยลง ผลนิ่ม เกิดการเน่าเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเมื่อปล่อยไว้นาน ๆ ผลที่เน่านั้นจะมีสีดำ ในบางครั้งจะพบเส้นใยสี            ขาว ลักษณะคล้ายพัดที่บริเวณฐานของทางใบ โดยเฉพาะฐานของใบที่รองรับทะลายปาล์มที่ถูกทำลาย ในสภาพที่อากาศมีความชื้นมากเส้นใยจะมีสีขาว และพบดอกเห็ดที่บน                ทะลายปาล์มน้ำมัน โดยดอกเห็ดมีสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 5-8 ซม. กลีบหมวกจะงอกลับขึ้นข้างบนเมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่

         สาเหตุ : เชื้อเห็ด (Marasmius palmivorus)

         การป้องกัน และกำจัด

ตัดทางใบที่เป็นโรคออกทำลาย

ตัดแต่งทางใบ ดอกที่ไม่ได้รับการผสม หรือผสมไม่ดี รวมถึงเศษเกสรดอกตัวผู้ที่แห้งควรเก็บออกให้หมด

 

       (5) โรคลำต้นเน่า (Stem rot)

       พบมากกับต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ปัจจุบันพบว่าโรคนี้เริ่มระบาดมากกับต้นปาล์มอายุ 10-15 ปี

       ลักษณะอาการ :

       เชื้อราจะเข้าทำลายที่รากเข้าสู่โคนต้น อาการภายนอกที่พบคือใบมีสีซีดจางกว่าปกติ ทางแก่ล่างจะหักพับทิ้งตัวห้อยลงรอบ ๆ ลำต้น เมื่ออาการปรากฏให้เห็นที่ใบ แสดงว่าเนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นถูกเชื้อเข้าทำลายอย่างน้อย 50% จำนวนใบยอดที่ยังไม่คลี่จะมากผิดปกติ เกิดการตายของทางใบที่แก่ที่สุด ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นกับฤดูกาล ต้นจะตายภายใน 6-12 เดือน โดยต้นจะหัก หรือล้มลง โรคนี้ทำให้เกิดการเน่าแห้งของเนื้อเยื่อที่ฐานของต้น เมื่อตัดลำต้นเป็นโรคตามขวางจะเห็นเนื้อเยื่อบริเวณที่เน่าเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีแถบ (Band) สีน้ำตาลเข้มรูปร่างไม่แน่นอนเกิดสลับกันอยู่ และที่ขอบแผลมีบริเวณ (Zone) สีเหลืองใสกั้นระหว่างส่วนที่เป็นโรคและส่วนที่ผิดปกติ รากมีลักษณะกรอบเนื้อเยื่อภายในแห้งเป็นผง ลักษณะที่สำคัญที่ใช้จำแนกโรคนี้ คือลักษณะของดอกเห็ด (Fruiting body) ซึ่งเชื้อเห็ดนี้สร้างขึ้นที่บริเวณฐานของลำต้น หรือรากบริเวณใกล้ลำต้น ดอกเห็ดที่พบครั้งแรกมีสีขาวขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายโตขึ้นมีสีน้ำตาลแดงมีขอบสีขาว ผิวด้านบนเรียบเป็นมันคล้ายทาด้วยแลคเกอร์ ผิวด้านล่างมีสีขาวขุ่นเต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่สร้าง สปอร์สีน้ำตาลเป็นผงเล็ก ๆ กระจายไปทั่วบริเวณข้างเคียง

        สาเหตุ : เชื้อเห็ด Ganoderma spp.

        การป้องกัน และกำจัด

พยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เคยปลูกมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมันมาก่อน

ดินควรมีการระบายน้ำดี

การเปิดป่าใหม่ ควรทำแปลงให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อเห็ดที่อาจอยู่กับซากพืช และตอไม้ที่เผาทิ้งไม่หมด

กำจัดต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง

สำหรับปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป เมื่อพบโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมดแล้วใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชทางบริเวณที่มีร่องรอยการถาก ตรวจดูอาการทุก 3 เดือนถ้ามีดอกเห็ดเกิดขึ้นอีกหรือลักษณะอาการทางใบยังไม่ปกติจะต้องทำการถากซ้ำ เพราะแสดงว่าเอาส่วนที่เป็นโรคออกไม่หมด

ขุดดินให้เป็นร่อง หรือคูรอบบริเวณต้นปาล์มที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการสัมผัสของรากระดับผิวดินของต้นที่เป็นโรคกับต้นปกติ และโรยทับด้วยสารป้องกันกำจัดโรคได้

พยายามอย่าเคลื่อนย้ายต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคผ่านไปในแปลงปาล์มน้ำมันเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

2. แมลงศัตรูปาล์มน้ำมัน

          (1) หนอนหน้าแมว (slug caterpillar, Darna furva)

เป็นหนอนของฝีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มหนอนร่านชนิดหนึ่ง และมีความสำคัญอย่างมาก สามารถทำให้ปาล์มน้ำมันเสียหายอย่างรุนแรงเมื่อเกิดการระบาดขึ้น โดยหนอนจะกัดทำลายใบจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หนอนหน้าแมวมีระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 30-40 วัน ระยะดักแด้ 9-14 วัน ระยะตัวเต็มวัย 6-11 วัน

         วิธีการป้องกันกำจัด

สำรวจแมลงในพื้นที่เป็นประจำ เพื่อวางแผนการกำจัดไม่ให้แมลงขยายพันธุ์ เพิ่มขึ้น

จับแมลงทำลายโดยตรง อาทิ เช่น จับผีเสื้อในเวลากลางวัน เก็บดักแด้ตามคอปาล์ม และถ้าพบหนอนปริมาณน้อยสามารถกำจัดทำลายโดยตรงทันที

สามารถใช้กับดักแสงไฟนีออนสีขาว หรือหลอด Black Light วางเหนืออ่างพลาสติกที่มีน้ำผสมผงซักฟอก โดยให้หลอดไฟอยู่ห่างจากน้ำประมาณ 5-10 ซม. ดักผีเสื้อในช่วงเวลา

18.00-19.00 น.เลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ในสวนปาล์มน้ำมันน้อยที่สุด

 

        (2) ด้วงกุหลาบ (rose beatle, Adoretus compressus)

เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก สีน้ำตาล ตัวเต็มวัยจะเข้ากัดทำลายใบของต้นปาล์มน้ำมันขนาดเล็กที่เพิ่งปลูกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบุกเบิกใหม่ ถ้ารุนแรงทางใบจะถูกทำลายจนหมดเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ด้วงจะเข้ากัดกินในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น

วิธีการป้องกันกำจัด

เนื่องจากจะพบรุนแรงในระยะเริ่มปลูกลงในแปลงใหญ่ ซึ่งสามารถใช้สารฆ่าแมลงประเภท carbaryl (Sevin 85% WP) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbosulfan (Posse 20%

EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน

        (3) ด้วงแรด (rhinoceros, Oryctes rhinoceros)

        เป็นแมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ สีดำ ด้านท้องสีน้ำตาลแดง เพศผู้มีเขาคล้ายนอแรดจะยาวโค้งมากกว่าเขาของเพศเมีย เฉพาะตัวเต็มวัยเท่านั้นที่เป็นศัตรูพืช โดยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบ ทำให้ทางใบหักง่าย และยังกัดเจาะทำลายยอดอ่อนทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม ถ้ารุนแรงจะทำให้ต้นตายได้

        วิธีการป้องกันกำจัด

กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเป็นที่อยู่ของไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย แหล่งขยายพันธุ์ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้น ตอของต้นปาล์ม ซากชิ้นส่วนของพืชที่เน่าเปื่อย กองปุ๋ยหมัก กองปุ๋ยคอก ซากทะลายปาล์มน้ำมัน และกองขยะเป็นต้น

กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ที่อยู่ภายในสวนปาล์มน้ำมันออกให้หมด

ซากทะลายปาล์มน้ำมันที่นำมาคลุมโคนต้น ไม่ควรกองทิ้งไว้เกิน 3 เดือน ควรเกลี่ยให้กระจายให้มีความสูง 15 ซม.

กำจัดไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ในแหล่งขยายพันธุ์ โดยนำมาทำลายเสีย

ใช้เชื้อราเขียว อัตรา 200-400 กรัมต่อกับดักขนาด 2x2x0.5 เมตร กับดักประกอบด้วย ซากเน่าเปื่อยของพืช ขี้วัว ขุยมะพร้าว กากกาแฟ หรือขี้เลื่อยผสมคลุกกันเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ และขยายพันธุ์ จะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายหนอน ดักแด้ ตายในที่สุด

ใช้ฮอร์โมนเพศ (ฟีโรโมน)เป็นกับดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ขณะนี้สามารถสังเคราะห์และผลิตเป็นรูปการค้า

                                                                  ระยะไข่และหนอน                                           ระยะตัวเต็มวัย

ลักษณะการทำลายปาล์มน้ำมันของด้วงแรด

กับดักล่อตัวเต็มวัยโดยใช้ฟีโรเมน

การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงในปาล์มน้ำมัน

3. การควบคุมสัตว์ศัตรูปาล์มน้ำมัน

ความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ศัตรูปาล์มน้ำมัน แบ่งตามอายุต้นปาล์มได้ 2 ระยะ คือ

ระยะตั้งแต่ปาล์มเริ่มปลูกใหม่จนถึงระยะเริ่มให้ผลผลิต (อายุ 1-3 ปี) มักพบ เม่น หมูป่า หนู และอีเห็น เข้ามากัดโคนต้นอ่อนและทางใบปาล์มส่วนที่ติดกับพื้นดิน

ระยะปาล์มให้ผลผลิตจนหมดอายุการให้ผลผลิต (อายุ 4-25 ปี) ศัตรูที่สำคัญ คือ หนู ซึ่งที่พบในสวนปาล์ม ได้แก่ หนูนาใหญ่ หนูท้องขาวทั้งชนิดที่เป็น หนูป่ามาเลย์ และหนูบ้านมาเลย์

หนูพุก หนูฟันขาวใหญ่ หนูท้องขาวสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังพบ เม่น กระแต หมูป่า และอีเห็น

 

(1) หนูพุกใหญ่ (great bandicoot, Bandicota indica)

      พบมากในสวนปาล์มที่อายุไม่เกิน 4 ปี โดยเฉพาะที่มีป่าหญ้าคา และหญ้าขน ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว หนูชนิดนี้มีขนาดใหญ่คือตัวเต็มวัย ความยาวหัวถึงลำตัว 246 มม. ความยาวหาง

244 มม. ความยาวตีนหลัง 56 มม. ความยาวหู 30 มม. หนูไม่ชอบปีนป่ายต้นไม้ ดังนั้นมันจะกัดกินโคนต้นอ่อน ทางใบ และลูกปาล์มที่อยู่กับพื้นดินเท่านั้น

      (2) หนูป่ามาเลย์ (Malayan wood rat, Rattus tiomanicus)

พบมากในสวนป่าละเมาะ ดงหญ้าที่เกิดภายหลังการเปิดป่าใหม่ พบเฉพาะในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยเฉพาะในสวนปาล์มน้ำมันในภาคใต้ จัดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดแม้ว่าหนูชนิดนี้จะปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว แต่ก็ติดกรงดักได้ง่าย หนูป่ามาเลย์ชอบกินลูกปาล์มทั้งดิบ และสุก ตลอดจนดอกตัวผู้ด้วย หนูป่ามาเลย์จะเริ่มเข้าทำลายปาล์มตั้งแต่ปาล์มอายุ 4 ปี เป็นต้นไป และจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 100-180 มม. ความยาวหาง 125-198 มม. (85-124%ของความยาวหัวถึงลำตัว) ความยาวตีนหลัง 28-32 มม. ความยาวหู 16-22 มม. น้ำหนักตัว 55-152 กรัม เต้านมที่บริเวณคอถึงขาหน้า 2 คู่ และบริเวณที่ขาหลัง 3 คู่ ขนด้านหลังสีน้ำตาลมะกอก และจะเข้มขึ้นในบริเวณกลางหลัง ขนเรียบนุ่มไม่มีขนแข็งปน ขนด้านท้องขาวล้วน หรือขาวอมเทาจาง ๆ

 

      (3) หนูบ้านมาเลย์ (Malaysian house rat, Rattus rattus diardii)

พบในทุ่งหญ้าที่ติดกับหมู่บ้าน หรือเมือง ในสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ของประเทศไทย หนูบ้านมาเลย์มีขนาดใหญ่กว่าหนูป่ามาเลย์ ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 110-200 มม. ความยาวหาง 80-119% (ของความยาวหัวถึงลำตัว) ความยาวตีนหลัง 30-38 มม. น้ำหนัก 180 กรัม เต้านมที่บริเวณอก 2 คู่ ที่บริเวณขาหลัง 3 คู่ ขนด้านหลังสีน้ำตาลปนเทา ส่วนที่ท้องสีจะแตกต่างกันมากพบตั้งแต่ สีเทาอ่อน ถึงเทาเข้มปนน้ำตาล แดง ดังนั้น สีขนด้านหลัง และด้านท้องคล้ายกันจนแยกไม่เด่นชัด

 

       ข้อพิจารณาในการป้องกันกำจัดหนู

เมื่อต้นปาล์มยังมีขนาดเล็ก (1-3 ปี) ถ้าพบความเสียหายแม้เพียงต้นเดียวก็ควรดำเนินการป้องกันกำจัดทันทีเมื่อต้นปาล์มให้ผลผลิตแล้วหมั่นสำรวจทะลายปาล์มถ้าพบรอยทำลายใหม่ (ในผลดิบสังเกตรอยกัดยังเขียวสดไม่แห้ง) ที่เกิดจากหนูกินผลปาล์มบนต้นตั้งแต่ 5% คือ
ใน 100 ต้น พบรอยทำลายใหม่ 5 ต้น ขึ้นไปให้ทำการป้องกันกำจัดทันที

 

วิธีป้องกันกำจัด

โดยไม่ใช้สารเคมี ได้แก่
การล้อมรั้วรอบโคนต้นปาล์มที่มีอายุ 1-3 ปี ด้วยไม้ไผ่ห่างจากโคนต้น ประมาณ 10 ซม. ปักเสาให้แน่นโดยสูงจากพื้นดินประมาณ 30 ซม.แต่ละเสาห่างกันไม่เกิน 5 ซม. เพื่อป้องกัน เม่น
หรือหมู่ป่า กัดต้นปาล์ม
การล้อมตี การดักโดยใช้กรงดัก และกับดักชนิดต่าง ๆ
การเขตกรรม โดยหมั่นถางหญ้ารอบต้นปาล์มเพื่อไม่ให้เป็นที่หลบกำบังของหนู
วิธีธรรมชาติ คือการอนุรักษ์สัตว์ศัตรูธรรมชาติ เช่น งูสิง งูแมวเซา งูแสงอาทิตย์ งูเห่า พังพอน เหยี่ยว นกเค้าแมว   นกแสก ฯลฯ สัตว์เหล่านี้จะจับหนูกินเป็นอาหาร

ใช้สารเคมี ได้แก่

ใช้สารฆ่าหนูที่ออกฤทธิ์เฉียบพลัน เช่น เหยื่อพิษ ซิงค์ฟอสไฟด์ 1% ใช้เมื่อมีหนูจำนวนมาก และต้องการลดหนูลงอย่างรวดเร็ว ให้ใช้สารฆ่าหนูที่ออกฤทธิ์เฉียบพลัน ในขั้นแรกหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ให้ใช้สารฆ่าหนู ออกฤทธิ์ช้าต่อเนื่องกัน จนหนูกินเหยื่อน้อยกว่า 20%

ใช้สารฆ่าหนูออกฤทธิ์ช้า เช่น ราคูมิน คลีแร็ค เล็ค สะตอม ฯลฯ หนูกิน เข้าไปจะไม่ตายทันทีทันใด แต่จะเห็นซากหนูภายหลังกินเสร็จแล้ว 7-10 วันขึ้นไป

                ข้อควรระวังสำหรับการใช้เหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์

                (1) ห้ามใช้มือเปล่าคลุกสารฆ่าหนู ในการวางเหยื่อ ต้องวางในที่ที่ปลอดภัยจากเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆจุดที่วางเหยื่อพิษไม่ควรวางเกิน 5 กรัมต่อจุด

                (2) ไม่ควรใช้ในวันที่ฝนตกเพราะเมื่อเหยื่อพิษถูกความชื้นจะเสื่อมสภาพ

การใช้สารเคมีออกฤทธิ์ช้ากำจัดหนู

4.การควบคุมวัชพืชในสวนปาล์มน้ำมัน

 

          วัชพืชในสวนปาล์มน้ำมัน มีทั้งวัชพืชฤดูเดียว (annual weeds) และวัชพืชหลายฤดู หรือวัชพืชข้ามปี (perennial weeds) แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือวัชพืชใบแคบ ได้แก่ หญ้าคา หญ้าเห็บ หญ้าดอกแดง หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้ามาเลเซีย เป็นต้น วัชพืชใบกว้าง ได้แก่ ขี้ไก่ย่าน กระทกรก ผักปราบ ผักบุ้งไร่ สาบเสือ สาบแร้ง สาบกา ผักยาง ผักโขม น้ำนมราชสีห์ เป็นต้น และ เฟิร์น ได้แก่ เฟิร์นก้างปลา ผักกูดแดง ย่านโซน ย่านลิเภา เป็นต้น

การควบคุมวัชพืชมีหลายวิธี เช่น การใช้แรงงาน การใช้เครื่องจักรตัดวัชพืช การใช้วัสดุคลุมดิน การปลูกพืชคลุมดิน โดยใช้พืชตระกูลถั่ว และการใช้สารกำจัดวัชพืช

การใช้สารกำจัดวัชพืช เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการควบคุมวัชพืชด้วยวิธีอื่น ชนิดสารกำจัดวัชพืช อัตราการใช้ และวิธีการใช้แสดงในตารางโดยผสมน้ำ 60-80 ลิตร/ไร่ ใช้หัวพ่นปล่อยน้ำยารูปพัดพ่นให้ทั่วต้นวัชพืช หลีกเลี่ยงละอองสารถูกใบ และต้นปาล์มน้ำมัน

การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในสวนปาล์มน้ำมัน